clock
logo

ความสัมพันธ์ไทย-จีน

October 20, 2022 | by Panda Holiday

ความสัมพันธ์ไทย-จีน

ไทยกับจีนมีความผูกพันและติดต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้) ของจีนซึ่งมีบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชนชาติไทย และที่เด่นชัดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับจีน ซึ่งมีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน และไทยได้รับเทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผามาจากจีนในช่วงเวลาดังกล่าว ความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างไทยกับจีน น่าจะเริ่มมีขึ้นในช่วงนี้ด้วยจากการอพยพของชาวจีนในช่วงสงครามสมัยราชวงศ์หยวนและในช่วงต้นราชวงศ์ หมิง และนับจากนั้นมา ก็ได้มีการติดต่อค้าขายกันมาโดยตลอดและมีชาวจีนจำนวนมากเข้ามาตั้งรกราก ในไทย โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกและสงครามกลางเมืองของจีนในทศวรรษที่ 1930-1950 มีชาวจีนจำนวนมากจากมณฑลทางใต้ของจีน อาทิ กวางตุ้ง ไห่หนาน ฝูเจี้ยน และกวางสี หลบหนีภัยสงครามและความ อดอยากเข้ามาสร้างชีวิตใหม่ในประเทศไทย จึงอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดดุจพี่น้องระหว่างไทย กับจีนได้มีมาอย่างยาวนาน เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

แม้กระแสทางการเมืองโลกในยุคสงครามเย็นจะทำให้ไทยกับจีนขาดการติดต่อกันในระดับทางการอยู่ระยะหนึ่ง แต่กระแสการเมืองโลกดังกล่าวก็ไม่อาจจะตัดความผูกพันและความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างแนบแน่นระหว่างประชาชนไทย-จีน ได้ ดังนั้น นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2518 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและราบรื่น และเป็นแบบอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มี ระบบการปกครองแตกต่างกัน โดยมีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

ด้านการเมือง

ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดในรอบด้าน และตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการการเคารพซึ่งกันและกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจและการไม่แทรกแซงในกิจการภายใน ไทยกับจีนได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) เมื่อเดือนเมษายน 2555 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือให้มีความใกล้ชิดและรอบด้านมากยิ่งขึ้น ทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างแนบแน่น รวมทั้งไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกันทางประวัติศาสตร์ พรมแดน หรือน่านน้ำระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยและจีนยังมีความร่วมมือ ที่ใกล้ชิดในกรอบอาเซียน – จีน กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง และจีนเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)

นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลในระดับมณฑลของจีน โดยเฉพาะมณฑลที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับไทย โดยไทยและจีนมีการจัดตั้งคณะทำงานในระดับส่วนกลางของไทยกับมณฑลของจีน 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานไทย – ยูนนาน คณะทำงานไทย – กวางตุ้ง และคณะทำงานไทย – กว่างซี

ด้านเศรษฐกิจ

หลังจากทศวรรษแรกของการสถาปนาความสัมพันธ์ที่ทั้งสองประเทศได้ประสบผลในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันแล้วนั้น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าได้กลายเป็นองค์ประกอบที่นับวันยิ่งมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะหลังจากที่จีนได้เริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อปี 1978 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศได้พัฒนาและขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว ในด้านการค้า มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน เพิ่มขึ้นจากปีแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตที่ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 64,223 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015 ในด้านการลงทุน ไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในจีนตั้งแต่เมื่อปี 1979 และก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในเอเชียเมื่อปี 1997 ปัจจุบันตัวเลขของทางการจีนก็ยังระบุว่า ไทยยังคงมีการลงทุนในจีนนับพันโครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมนับพันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จีนมีการลงทุนในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ในด้านการท่องเที่ยว ไทยและจีนต่างเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวยอดนิยมของประชาชนทั้งสองประเทศ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยประมาณ 7.9 ล้านคนต่อปี (สถิติปี 2558)

ด้านวัฒนธรรม

ด้วยความผูกพันยาวนานและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดทำให้ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนพัฒนาไปอย่างใกล้ชิดและแนบแน่นมาโดยตลอด ประชาชนของทั้งสองประเทศมีการไปมาหาสู่เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านประจำชาติ ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดีและได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากประชาชนของแต่ละฝ่าย ไปจนถึงความร่วมมือทางด้านศาสนาจากการที่ไทยเป็นเมืองพุทธและจีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีคนนับถือศาสนาพุทธมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง คือ ประมาณ 100 ล้านคน นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ในด้านนี้ยังได้รับการส่งเสริมโดยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ของไทย โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงสนพระทัยในภาษา วัฒนธรรรม และประวัติศาสตร์ของจีน ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน รวมทั้งเยาวชนของไทยในการศึกษาเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งทรงริเริ่มการแสดงดนตรี “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมนับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในด้านอื่นๆ

ข้อมูลอ้างอิง

ศูนย์ข้อมูลเพื่อ ธุรกิจไทยในจีน www.thaibizchina.com
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง www.thaiembbeij.org

สนใจท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ไว้วางใจให้แพนด้าเข้ามาดูแลได้เลยค่ะ

จัดกรุ๊ปส่วนตัว…เที่ยวกับคนรู้ใจอย่างที่ใจต้องการ
กรุ๊ปทัวร์…เที่ยวตามความนิยม ครบทุกไฮไลท์
ไม่ว่าอยากได้แบบไหน แพนด้าพร้อมบริการอย่างมืออาชีพ ด้วยคุณภาพระดับ 5 ดาว

#โลกจะกว้าง ทางจะไกล แพนด้าใส่ใจดูแล